วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สเตตัสของหุ้น ตอนที่ 2


       นอกจากสเตตัสของหุ้นที่มีผลต่อการซื้อขาย และมีผลมาจากการส่งงบการเงินล่าช้าแล้ว ยังมีสเตตัสของหุ้นอีกประเภทที่เกิดจากการได้รับสิทธิ์เมื่อถือหุ้นในช่วงเวลาที่บริษัทกำหนด ในเมื่อเราเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ควรรู้ถึงสิทธิ์ต่างๆที่ควรได้รับ



สิทธิ์ที่ได้รับจากการถือหุ้นสำคัญไฉน ?

       สำหรับนักลงทุนหลายคนที่เคยซื้อขายหุ้น บางคนไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ์ที่ได้รับเมื่อได้ถือหุ้น ทำให้พลาดโอกาสสำคัญๆ บางอย่าง เช่น บริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้นแล้วไม่ได้ไปร่วม บริษัทกำหนดจ่ายเงินปันผลแล้วขายหุ้นออกไปก่อน บริษัทให้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ หรือไม่เข้าใจว่าความหมายของเครื่องหมายที่ขึ้นมา เป็นต้น




********************************************************************************

เช็คว่าหุ้นที่เราถืออยู่มีโอกาสได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง ?



วิธีเช็คผ่านเว็บไซต์ SET

- เข้าเว็บไซต์ของ www.set.or.th


- พิมพ์ตัวย่อของหุ้นที่มุมบนขวาในกรอบสีน้ำเงินตามรูปด้านบน กดปุ่ม Enter


- เลือกหัวข้อ " ข้อมูลสิทธิ์ประโยชน์ "


ในตารางข้อมูลสิทธิ์ประโยชน์ แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ดังนี้

ส่วนที่ 1 - วันขึ้นเครื่องหมาย คือ ต้องถือหรือซื้อหุ้นก่อน 1 วัน จึงจะได้รับสิทธิ์นั้น

ส่วนที่ 2 - เครื่องหมาย สามารถเช็คความหมายจากตารางชื่อย่อของเครื่องหมายด้านบน

ส่วนที่ 3 - รายละเอียด ข้อมูลจะแตกต่างตามประเภทของเครื่องหมาย ดังต่อไปนี้



********************************************************************************


รายละเอียดของเครื่องหมาย XM

- วันปิดสมุดทะเบียน คือ วันที่ทางบริษัทปิดสมุดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์

- วันที่ประชุม คือ วันเวลาที่บริษัทกำหนดประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นสามารถไปร่วมการประชุมในวันนั้น จะใช้สิทธิ์ไปร่วมประชุมด้วยตัวเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปร่วมประชุมแทนก็ได้

- หัวข้อการประชุม คือ วาระการประชุมที่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า

- หมายเหตุ คือ ข้อมูลสถานที่จัดการประชุมผู้ถือหุ้น

       ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์จากเครื่องหมาย XM จะได้รับเอกสารแจ้งการประชุมผู้ถือหุ้นส่งมาที่บ้าน



รายละเอียดของเครื่องหมาย XD


- วันปิดสมุดทะเบียน คือ วันที่ทางบริษัทปิดสมุดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์

- วันจ่ายปันผล คือ วันที่ทางบริษัทกำหนดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้รับจะส่งมาให้ผู้ถือหุ้นในวันนั้น


- เงินปันผล(บาท/หุ้น) คือ เงินกำไรส่วนที่บริษัทแบ่งให้แก่ผู้ถือหุ้นในรอบนั้น อาทิเช่น เงินปันผล(บาท/หุ้น) = 0.36 หมายถึง หากถือหุ้นจำนวน 20,000 หุ้น จะมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลจำนวน 7,200 บาท (หลังจากหัก VAT 10% ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินสุทธิเป็นจำนวน 6,480 บาท)

- รอบผลประกอบการ คือ เงินปันผลจากกำไรของผลประกบการในช่วงเวลาดังกล่าว



       *หมายเหตุ เครื่องหมาย XD(ST) บริษัทจดทะเบียนให้หุ้นปันผลแทนเงินปันผล หรืออาจจะให้ทั้งหุ้นปันผล และเงินปันผลพร้อมๆกัน

       ยกตัวอย่าง กรณีของ CPALL ที่ให้หุ้นปันผล 1 : 1 และเงินปันผล 1.25 บาท/หุ้น แก่ผู้ถือหุ้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บริษัทแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ เมื่อถึงวันขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนหุ้นปันผลที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

       ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์จากเครื่องหมาย XD จะได้รับเช็คเงินปันผลส่งมาที่บ้าน สามารถนำไปขึ้นเป็นเงินสดที่ธนาคาร หรือได้รับเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีธนาคาร



รายละเอียดของเครื่องหมาย XW

- วันปิดสมุดทะเบียน คือ วันที่ทางบริษัทปิดสมุดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์

- วันที่จองซื้อ (หากไม่ทราบให้ดูจากเอกสารที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งมา หรือโทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่กมาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชีอยู่)

- ราคาจองซื้อ (หากไม่ทราบให้ดูจากเอกสารที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งมา หรือโทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชีอยู่)

       อัตราส่วนการจองซื้อ คือ สิทธิ์ในการจองซื้อวอแรนต์ อ้างอิงจากจำนวนหุ้นที่ถือเดิม อาทิเช่น อัตราส่วนการจองซื้อ = 2.5 : 1 หมายถึง หากถือหุ้นจำนวน 2.5 หุ้น มีสิทธิ์จองซื้อวอแรนต์จำนวน 1 หุ้น (คิดง่ายๆ ถือหุ้นจำนวน 5 หุ้น มีสิทธิ์จองซื้อวอแรนต์จำนวน 2 หุ้น) สมมุติเรามีหุ้นตัวนั้นจำนวน 5,000 หุ้น จะมีสิทธิ์จองซื้อวอแรนต์จำนวน 2,000 หุ้น เป็นต้น

       *หมายเหตุ ในบางครั้งเครื่องหมาย XW บริษัทจดทะเบียนอาจจะให้วอแรนต์แก่ผู้ถือหุ้นฟรี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บริษัทแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ

       ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์จากเครื่องหมาย XW จะได้รับเอกสารแจ้งการจองซื้อวอแรนต์ของหุ้นตัวนั้นส่งมาที่บ้าน หากสนใจใช้สิทธิ์จองซื้อวอแรนต์ ให้กรอกข้อมูล พร้อมกับโอนเงินค่าจองซื้อวอแรนต์ส่งกลับบริษัทหุ้นตัวนั้น หรือไม่สนใจใช้สิทธิ์จองซื้อวอแรนต์ก็ได้




รายละเอียดของเครื่องหมาย XR

- วันปิดสมุดทะเบียน คือ วันที่ทางบริษัทปิดสมุดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์

- วันที่จองซื้อ คือ ช่วงเวลาที่ผู้ถือหุ้นเดิม สามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้

- ราคาจองซื้อ ตามปกติราคาจองซื้้อหุ้นเพิ่มทุนจะต่ำกว่าราคาหุ้นในช่วงเวลานั้น

       อัตราส่วนการจองซื้อ คือ สิทธิ์ในการจองซื้อวอแรนต์ อ้างอิงจากจำนวนหุ้นที่ถือเดิม อาทิเช่น อัตราส่วนการจองซื้อ = 4 : 1 หมายถึง หากถือหุ้นจำนวน 4 หุ้น มีสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1 หุ้น สมมุติเรามีหุ้นตัวนั้นจำนวน 5,000 หุ้น จะมีสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,250 หุ้น เป็นต้น

       ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิ์จากเครื่องหมาย XR จะได้รับเอกสารแจ้งการจองซื้้อหุ้นเพิ่มทุนของหุ้นตัวนั้นส่งมาที่บ้าน หากสนใจใช้สิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ให้กรอกข้อมูลพร้อมกับโอนเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่งกลับบริษัทหุ้นตัวนั้น หรือไม่สนใจใช้สิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ได้



********************************************************************************

สเตตัสที่มีผลมาจากการได้รับสิทธิ์

- หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย " XM " หากถือหุ้นอยู่จนขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บริษัทกำหนด ตามปกติแล้วบริษัทจดทะเบียนจัดการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานผลประกอบการของปีที่ผ่านมา , เป้าหมายการขยายธุรกิจภายในปีนี้ , การเลือกคณะกรรมการผู้บริหารของบริษัท รวมทั้งนโยบายการจ่ายเงินปันผล

       ในบางครั้งบริษัทอาจมีการจัดประชุมในวาระพิเศษ อาทิเช่น การออกหุ้นเพิ่มทุน และการออกหุ้นกู้ เป็นต้น ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมการประชุมมีสิทธิ์ออกเสียงได้ตามจำนวนหุ้นที่ถือ 1 หุ้น : 1 เสียง รวมทั้งมีสิทธิ์ซักถามข้อสงสัยกับคณะกรรมการผู้บริหารโดยตรง



       ข้อดีของการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ทำให้ทราบถือผลประกอบการของปีที่ผ่านมา , วิสัยทัศน์ การตอบข้อซักถามของคณะกรรมการผู้บริหาร , เป้าหมายการขยายธุรกิจภายในปีนี้

       *หมายเหตุ เมื่อถือหุ้นจนขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ถือหุ้นได้ขายหุ้นออก สิทธิ์ที่ได้รับก็ยังคงอยู่ในรอบที่เพิ่งขึ้นเครื่องหมายไป




********************************************************************************

- หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย " XD " หากถือหุ้นอยู่จนขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลตามที่บริษัทกำหนด บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจมีกำไร จำเป็นต้องแบ่งกำไรบางส่วนคืนกลับมาให้ผู้ถือหุ้น ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท



       ข้อดีของการซื้อหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล สมมุติว่า มีเงินลงทุนในระยะยาว ได้ซื้้อหุ้น A ราคาหุ้นละ 100 บาท มีการจ่ายเงินปันผลปีละ 10 บาท แล้วบริษัทมีกำไรเท่าเดิมต่อเนื่อง 10 ปี จ่ายเงินปันผล 10 ปีสม่ำเสมอ เมื่อถือหุ้นไว้จนครบ 10 ปี ได้รับเงินปันผลเป็นจำนวน 10*10 = 100 บาท เข้าสู่จุดคุ้มทุน ในปีถัดไปเงินปันผลที่ได้รับจะกลายเป้นเงินได้เปล่า หรือที่หลายๆ คน เรียกว่า " หุ้นห่านทองคำ " นั่นเอง

       บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจขาดทุนต่อเนื่อง จะไม่มีการขึ้นเครื่องหมาย " XD " ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีกำไร 



********************************************************************************

- หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย " XW " หากถือหุ้นอยู่จนขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์จองซื้อวอแรนต์ตามที่บริษัทกำหนด บริษัทจดทะเบียนที่ต้องขยายธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก


       วอแรนต์ คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ทางบริษัทออกให้ ส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 3 ปี ราคาวอแรนต์จะถูกกว่าราคาหุ้น โดยวอแรนต์สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นได้ แต่ต้องใช้เงินสด เพื่อแปลงสภาพ ช่วงเวลาในการใช้สิทธิ์แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้น ขึ้นอยู่กับที่บริษัทกำหนด


       ชื่อย่อของวอแรนต์ จะใช้ชื่อย่อของหุ้น ตามด้วยเครื่องหมายขีดตัวอักษร W และตัวเลขต่อท้าย อาทิเช่น CCP-W1 , TSF-W2 , BLAND-W3 และ CGS-W5 เป็นต้น




ตัวอย่างในรูป วอแรนต์ของหุ้น TSF ชื่อ TSF-W2


- กำหนดใช้สิทธิ์แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้น ทุกวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ , เดือนพฤษภาคม , เดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

- กำหนดใช้สิทธิ์แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้นครั้งแรก ในวันที่ 31 สิงหาคม 2555

- กำหนดใช้สิทธิ์แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้นครั้งสุดท้าย ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2558

- อัตาราการใช้สิทธิ์แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้น คือ วอแรนต์ จำนวน 1 หุ้น แปลงสภาพเป็นหุ้น จำนวน 1 หุ้น

- ราคาที่ใช้แปลงสภาพวอแรนต์เป็นหุ้น คือ จ่ายเงินค่าแปลงสภาพหุ้นละ 0.30 บาท 


       *ข้อควรระวัง ข้อจำกัดเรื่องอายุของวอแรนต์ หากไม่แปลงสภาพในช่วงที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้น เมื่ออายุของวอแรนต์สิ้นสุดลง วอแรนต์นั้นจะมูลค่ากลายเป็น ศูนย์ ทันที


- หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย " XR " หากถือหุ้นอยู่จนขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามที่บริษัทกำหนด

       บริษัทจดทะเบียนที่ต้องขยายธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก การออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นรายเดิมสามารถซื้อหุ้นเพิ่ม เป็นอีกวิธีที่บริษัทส่วนใหญ่นิยมใช้กัน แทนที่จะบริษัทต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วจ่ายดอกเบี้ย บริษัทเลือกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น



       หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักลงทุนทุกท่านคงได้ประโยชน์จากความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ที่ได้รับจากการขึ้นเครื่องหมายของหุ้นที่ถือไม่มากก็น้อย อาจประยุกต์ไปใช้เป็นแนวทางในการคัดกรองหาหุ้นที่ดีของแต่ละคน



********************************************************************************

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สเตตัสของหุ้น ตอนที่ 1


       การขึ้นเครื่องหมายของหุ้น เป็นการบ่งบอกสเตตัสของหุ้นตัวนั้น ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันหุ้นตัวนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งด้านบวก และด้านลบ ดังนั้นนักลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขึ้นเครื่องหมายของหุ้น และผลกระทบที่จะตามมา หลังจากเกิดการขึ้นเครื่องหมายแล้ว


สเตตัสที่มีผลต่อการซื้อขายหุ้น

       - หุ้นที่ไม่มีการขึ้นเครื่องหมายใดๆ แสดงว่า หุ้นตัวนั้นอยู่สถานะปกติ สามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ

       - หุ้นที่มีการขึ้นเครืองหมาย " DS " บ่งบอกว่า หุ้นตัวนั้นอยู่ในช่วงผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่รุนแรง อาจเกิดจากการเก็งกำไรในระยะสั้นๆ หากต้องการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องวางเงินสดในการซื้อขายหุ้นเท่านั้น

       - หุ้นที่มีการขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายชั่วคราว มี 3 ประเภท คือ

1. หุ้นที่มีการขึ้นเครื่องหมาย " H " มีสาเหตุมาจากข้อมูล หรือข่าวลือที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่รุนแรง จนทางตลาดหลักทรัพย์สั่งพักการซื้อขายชั่วคราว รอจนกว่าทางบริษัทจดทะเบียนจะชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสียก่อน อาทิเช่น การเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากของนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทนั้น เป็นต้น

2. หุ้นที่มีการขึ้นเครื่องหมาย " SP " มีสาเหตุมาจากทางบริษัทจดทะเบียนยังไม่ได้ส่งงบการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์

3. หุ้นที่มีการขึ้นเครื่องหมาย " NC " มีสาเหตุมาจากทางตลาดหลักทรัพย์สั่่งพักการซื้อหุ้นชั่วคราว เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนเข้าข่ายอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาล



       ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ต้องส่งงบการเงิน และรายงายฐานะทางการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อก่อให้เกิดความโปร่งใสในตัวบริษัท สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน โดยรายงานดังกล่าวต้องแจ้งภายใน 90 วันหลังจากสิ้นสุดแต่ละไตรมาส (ทุก 3 เดือน)

       ตัวอย่างเช่น เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่1 (Q1) คือ วันที่ 31 เดือนมีนาคม บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ส่งงบการเงินให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ ก่อนวันที่ 15 เดือนพฤษภาคม (ภายใน 90 วัน) หากไม่ส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด หุ้นของบริษัทจดทะเบียนจะถูกขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายชั่วคราว เป็นต้น


สเตตัสที่มีผลมาจากการส่งงบการเงินล่าช้า

       - หุ้นส่งงบการเงินทันภายในระยะเวลาที่กำหนด จะไม่ถูกขึ้้นเครื่องหมาย สามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ

       - หุ้นที่ส่งงบการเงินไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถูกขึ้นเครื่องหมาย " NP " ซึ่งในระหว่างนี้ยังคงสามารถซื้อขายหุ้นได้

       - หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย " NP " ติดต่อกันนาน 5 วัน จะถูกขึ้นเครื่องหมาย " SP " แทน หมายถึง ถูกพักการซื้อขายชั่วคราว จนกว่าบริษัทจดทะเบียนจะส่งงบการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์

       - หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่อง " NP " และ " SP " อยู่ ภายหลังทางบริษัทจดทะเบียนส่งงบการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์ จะถูกขึ้นเครื่องหมาย " NR " ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วัน ก่อนจะกลับมาการซื้อขายหุ้นได้เหมือนเดิม


       ประโยชน์ที่ได้รับจากการดูสเตตัสของหุ้น ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ ณ ปัจจุบัน และเลือกจะตัดสินได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้หุ้นที่อดีตเคยมีประวัติถูกขึ้นเครื่องหมายบ่อยๆ เราอาจจะหลีกเลี่ยงจากหุ้นเหล่านั้น แล้วเลือกที่จะมองหาหุ้นที่มีประวัติดี ในตลาดหุ้นมีหุ้นมากมาย ดังนั้นการกรองหุ้นด้วยการดูจากสเตตัส จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน และมีความไม่โปร่งใส ปิดบังข้อมูลความจริงได้อีกช่องทางหนึ่ง


********************************************************************************

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แนวโน้มการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ



       แนวโน้มการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุน ช่วยทำให้รู้ถึงทิศทางของตลาดหุ้นว่า ณ ตอนนี้ มีสภาพเป็นยังไง เมื่อเห็นภาพรวมของตลาดหุ้นชัดเจนแล้ว จะได้ตัดสินใจ หุ้นที่ถืออยู่ควรจะถือต่อดี ? หรือเริ่มขายดี ? แล้วถ้ายังไม่มีหุ้นอยากซื้อหุ้นจะเสี่ยงไหม ? ถ้าใช้งานจนคล่องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

       ดูแนวโน้มการซื้อขาได้ที่ >>> WWW.SET.OR.TH สามารถดูสรุปมูลค่าการซื้อขายสิ้นวัน ที่ด้านขวาของหน้าเว็บไซต์ ดังตัวอย่างภายในกรอบสีเหลี่ยมสีแดง ซึ่งจะเป็น สรุปมูลค่าการซื้อขายภายในวันนั้น หากต้องการดูรายละเอียดมากขึ้น ให้คลิกปุ่ม " เพิ่มเติม>>> " (ตำแหน่งกรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน)


       เมื่อคลิกปุ่ม " เพิ่มเติม>>> " ก็จะเข้ามาสู่หน้า " สรุปมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน " ภายในหน้านี้เป็นตารางสรุปมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน 3 ตาราง ได้แก่ สรุปการซื้อขายภายในวัน , สรุปการซื้อขายสะสมในช่วงภายในเดือน และสรุปการซื้อขายสะสมในช่วงภายในปี


คำอธิบายเกี่ยวกับประเภทกลุ่มนักลงทุนในตาราง

- สถาบันในประเทศ(Institution) คือ กลุ่มนักลงทุนประเภทกองทุนรวม หรือบริษัทต่างๆ

- บัญชีบริษัทหลักทรัพย์(Proprietary) คือ กลุ่มโบรกเกอร์ที่มีพอร์ตลงทุน โดยมี ป็อปเทรด เป็นผู้ดูแล

- นักลงทุนต่างประเทศ(Foreign) คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

- นักลงทุนทั่วไปในประเทศ(Individual) คือ กลุ่มนักลงทุนรายย่อย อย่างพวกเรา


* ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มนักลงทุน >>> คลิกที่นี่


       กลุ่มที่เราจะให้ความสำคัญในการดูเป็นพิเศษ คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นมากที่สุด

       ข้อดีของการดูสรุปการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุน คือ ทำให้ทราบว่า ณ ปัจจุบัน และที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มมีการซื้อขาย รวมถึงการสะสมหุ้นในพอร์ตมากน้อยแค่ไหน แล้วได้ขายออกมาจำนวนเท่าไหร่แล้ว

********************************************************************************



       ในตารางแรก คือ สรุปการซื้อขายภายในวัน (ยกตัวอย่าง ณ วันที่ 30 พ.ย. 2555)

       เมื่อดูในช่องการซื้อขายสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (ช่องไฮไลท์สีชมพู) จะพบว่า " ภายในวันนี้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีปริมาณการซื้อหุ้น 43,535 ล้านบาท และมีปริมาณการขายหุ้น 39,683 ล้านบาท " หรือสรุปสั้นๆ ว่า " ภายในวันนี้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีปริมาณการซื้อเข้ามากกว่าการขายออก "

       เมื่อเราดูเปรียบเทียบกับกราฟ SET ภายในวัน โดยเริ่มจากราคา 1,314 จุด และสิ้นสุดที่ราคา 1,324 จุด สรุปได้ว่า " ภายในวันนี้กราฟ SET มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางของลูกศรสีชมพูที่ลากไว้ตามรูปด้านบน สอดคล้องกับสรุปการซื้อขายภายในวันของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ "

       เมื่อเข้าใจแนวโน้มภายในวันแล้ว ช่วยทำให้การตัดสินใจภายในวันได้ อยากถือหุ้นยาวกว่านี้จำเป็นต้องดูภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ สรุปการซื้อขายภายในเดือน

********************************************************************************



       ในตารางที่สอง คือ สรุปการซื้อขายภายในเดือน (ยกตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ถึง 30 พ.ย. 2555)

       เมื่อดูในช่องการซื้อขายสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (ช่องไฮไลท์สีชมพู) จะพบว่า " ภายในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติมีปริมาณการซื้อหุ้น 235,907 ล้านบาท และมีปริมาณการขายหุ้น 229,733 ล้านบาท " หรือสรุปสั้นๆ ว่า " ภายในเดือนนี้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีปริมาณการซื้อเข้ามากกว่าการขายออก ยังคงสะสมหุ้นไว้ในพอร์ตอยู่ "

       เมื่อเราดูเปรียบเทียบกับกราฟ SET ภายในเดือน โดยเริ่มจากราคา 1,298 จุด และสิ้นสุดที่ราคา 1,324 จุด สรุปได้ว่า " ภายในเดือนนี้กราฟ SET มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามเส้นแนวนอนสีน้ำเงินที่ลากไว้ เพื่อให้เห็นว่าราคา SET มีการปรับสูงขึ้นกว่าต้นเดือนตามรูปด้านบน สอดคล้องกับสรุปการซื้อขายภายในเดือนของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ "

       เมื่อเข้าใจแนวโน้มภายในเดือนแล้ว ช่วยทำให้การตัดสินใจภายในเดือนได้ อยากถือหุ้นยาวกว่านี้จำเป็นต้องดูภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ สรุปการซื้อขายภายในปี

********************************************************************************



       ในตารางที่สุดท้าย คือ สรุปการซื้อขายภายในปี (ยกตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 30 พ.ย. 2555)

       เมื่อดูในช่องการซื้อขายสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (ช่องไฮไลท์สีชมพู) จะพบว่า " ภายในปีนี้นักลงทุนต่างชาติมีปริมาณการซื้อหุ้น 1,785 พันล้านบาท และมีปริมาณการขายหุ้น 1,732 พันล้านบาท " หรือสรุปสั้นๆ ว่า " ภายในปีนี้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีปริมาณการซื้อเข้ามากกว่าการขายออก ยังคงสะสมหุ้นไว้ในพอร์ตอยู่ "

       เมื่อเราดูเปรียบเทียบกับกราฟ SET ภายในปี โดยเริ่มจากราคา 1,036 จุด และสิ้นสุดที่ราคา 1,324 จุด สรุปได้ว่า " ภายในปีนี้กราฟ SET มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางของลูกศรสีชมพูที่ลากไว้ตามรูปด้านบน สอดคล้องกับสรุปการซื้อขายภายในปีของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ "


       สรุปจากการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทั้งสามตารางได้คร่าวๆ ว่า นักลงทุนต่างชาติมีปริมาณการซื้อเข้ามากกว่าการขายออก ยังคงสะสมหุ้นไว้ในพอร์ตอยู่ถึงแม้เวลาจะผ่านเกือบปีแล้วก็ตาม ใครที่ซื้อหุ้นไว้เมื่อตอนต้นปี แล้วตอนนี้ยังไม่ได้ขาย มีโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น (กรณีที่หุ้นตัวนั้น มีแนวโน้มเดียวกับตลาดหุ้น)


********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คุณเปรียบเสมือนสัตว์ชนิดไหน ?



กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้น แบ่งหลักๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

1. นักลงทุนต่างชาติ กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อราคาหุ้นในตลาด โดยเฉพาะหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน(ENERG) และกลุ่มธนาคาร(BANK) ด้วยอำนาจการเงินจำนวนมหาศาล ทำให้เมื่อนักลงทุนต่างชาติเคลื่อนไหวไปทางไหน ตลาดหุ้นมักคล้อยตามไปทางนั้น

       - หากมีแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเกิดขึ้น ก็จะพาตลาดหุ้นไปสู่เทรนขาขึ้น

       - หากมีแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเกิดขึ้น ก็จะพาตลาดหุ้นไปสู่เทรนขาลง


       อำนาจการเงินของนักลงทุนต่างชาติ เปรียบเสมือน ราชสีห์ จ้าวป่า ตัวแทนแห่งพลังอำนาจ เวลาราชสีห์นอนหลับดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไร ถ้าราชสีห์หิวเมื่อใด สัญชาตญาณนักล่าจะปรากฏขึ้นมาทันที



2. นักลงทุนสถาบัน และบริษัทหลักทรัพย์ มีความชำนาญในการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ออกบทวิเคราะห์ รวมทั้งมีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อยในมือ ทำให้ทราบทุกความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในช่วงพริบตา


       การเข้าถึงข้อมูลชนิดลึกซึ้งของนักลงทุนสถาบัน และบริษัทหลักทรัพย์ เปรียบเสมือน อินทรีย์ จ้าวเวหา ตัวแทนแห่งดวงตาที่เฉียบแหลม มองเห็นความเคลื่อนไหวทั้งในอากาศ และบนพื้นดิน จึงยากที่จะมีสิ่งใดรอดพ้นจากสายตาของอินทรีย์ไปได้



3. นักลงทุนรายย่อย ด้วยเงินลงทุนจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับนักลงทุนต่างชาติ ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลในเชิงลึกที่ด้อยกว่านักลงทุนสถาบัน และบริษัทหลักทรัพย์ ทำให้เกิดข้อเสียเปรียบ


       นักลงทุนรายย่อย เปรียบเสมือน เก้ง กวาง และม้าลาย ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ สำหรับเป็นนักล่า ตัวแทนแห่งการแสวงหาความรู้ และความอยู่รอด วิธีที่เก้ง กวาง และม้าลาย เรียนรู้เพื่อการอยู่รอด คือ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เวลาราชสีห์ออกล่าเหยื่อ จะพุ่งเล็งไปที่เหยื่อตัวที่อ่อนแอที่สุด วิ่งช้าๆ ทำให้ตัวอื่นมีโอกาสรอดมากกว่าอยู่ตัวเดียวตามลำพัง หากใครเคยดูสารคดีชีวิตสัตว์ จะพบว่า ในสัตว์ฝูงหนึ่ง จะมีตั้งแต่จ่าฝูงที่เป็นผู้นำ และตัวที่คอยทำหน้าที่ยามเฝ้าระวังภัย



       ดังนั้นการที่นักลงทุนรายย่อยรวมกลุ่มกัน ถือว่ามีประโยชน์มาก ในแง่การแชร์ข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนแนวความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน เพราะสายตาหลากหลายคู่ ย่อมดีกว่าสายตาคู่เดียว จึงขอยกตัวอย่างสังคมของนักลงทุนรายย่อย อาทิเช่น




       เว็บบอร์ดของ Settrade >>> คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

       รายละเอียด : เป็นเว็บบอร์ดที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจัดทำขึ้น สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ บางครั้งอาจจะเจอคำถามแปลกๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน มีผู้เชี่ยวชาญมาคอยตอบคำถามเหล่านั้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากมีคำถามอะไรสงสัย สามารถตั้งคำถามได้







       Thai Value Investor (THAI VI) >>> คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

       รายละเอียด : ศูนย์รวมของนักลงทุนแนวคุณค่า (Value Investor) ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลงทุน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนซื้อหุ้นพื้นฐานดีๆ ซักตัวหนึ่ง แล้วถือในระยะยาว โดยใช้การวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทหุ้น ตามสไตล์ VI นักลงทุนมือเก๋า






       ห้องสินธร แห่ง Pantip (Sinthorn) >>> คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

       รายละเอียด : ศูนบ์รวมของนักลงทุนรายย่อย มีการตั้งกระทู้ และร่วมแชร์ข้อคิดเห็นจากเพื่อนนักลงทุนด้วยกัน มีการอัพเดตข่าวสารภายในวัน ชนิดนาทีต่อนาทีกันเลย








       เว็บไซต์ Stock 2 Morrow (S2M) >>> คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

       รายละเอียด : ศูนบ์รวมของนักลงทุนรายย่อยที่กระแสแรงมากในช่วงเวลานี้ โดยเกิดจากกลุ่มคนที่มีอาชีพแตกต่างกัน แต่มีความสนใจในการลงทุนเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก มีการแชร์ความรู้ในเชิงกราฟเทคนิค การเลือกใช้เครื่องมือ Indicator และการลากเส้นตี Trend Line



       ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีสังคมนักลงทุนรายย่อยอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เอ่ยขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อมูลที่นำเสนอ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการลงทุนของตัวเอง หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย สุดท้ายขอให้ทุกคนโชคดีในการลงทุน

********************************************************************************

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หน้าหลักเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์


       การอ่านข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทราบว่า วันนี้ตลาดหุ้นมีภาพรวมเป็นเช่นไร ขึ้นหรือลง มากน้อยแค่ไหน มาลองศึกษาไปด้วยกัน พร้อมแล้วไปกันเลย


       เริ่มจากเปิดเว็บไซต์ www.set.or.th และ www.settrade.com ขึ้นมากันก่อน เมื่อเข้ามาสู่หน้าเว็บไซต์หลัก ให้มองหาตารางตามรูปด้านบน ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์เป็นข้อมูลล่าสุด เมื่อเวลาผ่านไปหากต้องการให้ข้อมูลอัพเดตใหม่ ให้กด Refresh ที่เว็บบราวเซอร์หรือกดปุ่ม F5 บนคีย์บอร์ด



มาดูส่วนต่างๆ ในตารางกัน




       ส่วนที่ 1 เป็นกราฟแสดงภาพรวมของ SET


       - หากกราฟมีความชันเพิ่มขึ้น แสดงว่า ภายในวันนี้ SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น


       - หากกราฟมีความชันลดลง แสดงว่า ภายในวันนี้ SET ปรับตัวลดลง



       การเปลี่ยนไปดูกราฟของ SET50 SET100 และ SETHD สามารถกดที่ตัวอักษรด้านบนตาราง ส่วนเส้นแนวนอนสีส้ม คือ ราคาปิดของเมื่อวาน


       - หากปลายทางขวาของกราฟสูงกว่าเส้นแนวนอนสีส้ม แสดงว่า ราคาล่าสุดของ SET สูงกว่าราคาปิดของเมื่อวาน


       - หากปลายทางขวาของกราฟต่ำกว่าเส้นแนวนอนสีส้ม แสดงว่า ราคาล่าสุดของ SET ต่ำกว่าราคาปิดของเมื่อวาน



       สรุปจากส่วนที่ 1 ทำให้เรารู้ว่า กราฟ SET มีความชันเพิ่มขึ้น และสูงกว่าเส้นสีส้ม แสดงว่า ภายในวันนี้ SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาล่าสุดสูงกว่าราคาปิดของเมื่อวาน




       ส่วนที่ 2 เป็นตารางข้อมูลบอกภาพรวมของตลาดหุ้นทั้งหมด ประกอบด้วย SET , SET50 , SET100 และ SETHD ทำให้รู้ตัวเลขของราคาล่าสุด(Last) และค่าเปลี่ยนแปลงภายในวันนี้(Change)


- หากค่าเปลี่ยนแปลงภายในวันนี้ เป็นเครื่องหมายบวก( + ) และตัวเลขสีเขียว แสดงว่า ค่าเปลี่ยนแปลงภายในวันนี้เป็นบวก


- หากค่าเปลี่ยนแปลงภายในวันนี้ เป็นเครื่องหมายลบ( - ) และตัวเลขสีแดง แสดงว่า ค่าเปลี่ยนแปลงภายในวันนี้ติดลบ



       สรุปจากส่วนที่ 2 ทำให้เรารู้ว่า SET ราคาล่าสุด 1,298 จุด และเพิ่มขึ้นประมาณ 4 จุด หากเปิดด้วย WWW.SET.OR.TH จะเพิ่มข้อมูลมูลค่าการซื้อขายภายในวันนี้ 13,230 ล้านบาท




       ส่วนที่ 3 (เฉพาะ WWW.SETTRADE.COM) แสดงข้อมูลมูลค่าการซื้อขายภายในวันนี้(Value) และปริมาณการซื้อขาย(Volume) รวมทั้งบอกด้วยว่า มีหุ้นกี่ตัวราคาเพิ่มขึ้น ราคาลดลง และราคาคงที่



       สรุปจากส่วนที่ 3 ทำให้เราทราบว่า SET มีปริมาณการซื้อขาย 3,262 ล้าน และมีหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นจำนวน 320 ตัว / หุ้นที่ราคาลดลงจำนวน 176 ตัว / หุ้นที่ราคาคงที่จำนวน 148 ตัว



       นำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปรวมกันได้ดังนี้ วันนี้ SET ราคาล่าสุด 1,268 จุด เพิ่มขึ้นประมาณ 4 จุด และราคาล่าสุดสูงกว่าราคาปิดของเมื่อวาน มีมูลค่าการซื้อขายภายในวันนี้ 13,230 ล้านบาท มีปริมาณการซื้อขาย 3,262 ล้าน และมีหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นจำนวน 320 ตัว / หุ้นที่ราคาลดลงจำนวน 176 ตัว / หุ้นที่ราคาคงที่จำนวน 148 ตัว แสดงว่าหุ้นส่วนใหญ่ราคาเพิ่มขึ้น




********************************************************************************

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

มาทำความรู้จักหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 3




       เคยเห็นตัวเลขราคาหุ้นวิ่งที่มุมล่างของหน้าจอโทรทัศน์บ่อยๆ ใช่ไหม? ลองมาทำความรู้จักองค์ประกอบของราคาหุ้นกันดีกว่า ตัวเลขพวกนี้บอกอะไรเราบ้าง แต่ที่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้นักลงทุนมือใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด




       เริ่มจากพิจารณาภาพรวมจากใหญ่ไปหาย่อย ถ้าภาพรวมของตลาดหุ้นดี ลองมองหากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ สุดท้ายลงลึกไปที่รายละเอียดของหุ้นรายตัว ถ้าภาพรวมของตลาดหุ้นแย่ ควรรอดูภาพรวมของตลาดหุ้นกลับมาดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยง เปรียบเสมือน ชาวประมงมองดูท้องฟ้า หรือฟังรายงานจากกรมอุตุฯ เช็คดูสภาพอากาศเป็นเช่นไร ชาวประมงเห็นคลื่นลมแรง เหมือนพายุจะเข้าก็งดหาปลา หลีกเลี่ยงอันตรายจากพายุนั่นแหละ



********************************************************************************


ตัวย่อแบ่งตามตลาดหุ้น


           SET คือ ภาพรวมของตลาดหุ้น SET

       SET50 คือ ภาพรวมของหุ้นในกลุ่ม SET50

       SET100 คือ ภาพรวมของหุ้นในกลุ่ม SET100

       SETHD คือ ภาพรวมของหุ้นที่จ่ายปันผลดี

       MAI คือ ภาพรวมของตลาดหุ้น MAI โดยบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มนี้มีขนาดทุนจดทะเบียนน้อยกว่าในตลาดหุ้น SET



********************************************************************************


ตัวย่อแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม


       กลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) หุ้นทุกตัวล้วนถูกจะอยู่เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน โดยทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นเช่นไร ย่อมส่งผลไปที่หุ้นได้เช่นกัน อาทิเช่น ในกลุ่มธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารหลายตัว มีตั้งแต่ ธนาคารชั้นนำไล่เรียงไปจนถึงธนาคารที่มีผลประกอบขาดทุน เป็นต้น ซึ่งการค้นหาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นตัวนำตลาด เราอาจจะเจอหุ้นตัวดีๆ ได้ไม่ยาก 

เพิ่มเติม - หุ้นในตลาดหุ้น MAI ไม่มีการจัดประเภทตามกลุ่มอุตสาหกรรม



********************************************************************************


ตัวย่อเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น



       - หลักทรัพย์ (Symbol) คือ ตัวย่อของหุุ้น อาทิเช่น PTT , SCB , AMATA และ BEC เป็นต้น

       - ราคาเปิด (Open) คือ ราคาเริ่มต้นซื้อขายของวัน ราคาเปิดไม่จำเป็นต้องเท่ากับราคาปิดของวันเมื่อวานเสมอไป ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาตามความต้องการของผู้ซื้อ และผู้ขาย บางทีอาจจะเจอการใช้ตัวย่อแทนด้วย " O "

       - ราคาสูงสุด (High) คือ ราคาสูงสุดของหุ้นที่เกิดขึ้นภายในวัน บางทีอาจจะเจอการใช้ตัวย่อแทนด้วย " H "

       - ราคาต่ำสุด (Low) คือ ราคาต่ำสุดของหุ้นที่เกิดขึ้นภายในวัน บางทีอาจจะเจอการใช้ตัวย่อแทนด้วย " L "

       - ราคาล่าสุด (Last) คือ ราคาล่าสุดของหุ้น ณ ปัจจุบัน เมื่อปิดตลาด ราคาล่าสุดจะกลายเป็นราคาสิ้นวัน (Close) นั่นเอง บางทีอาจจะเจอการใช้ตัวย่อแทนด้วย " C "

       - Change (Chg) คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือบวก ตัวเลขจะเป็นสีเขียว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงลดลง หรือติดลบ ตัวเลขจะเป็นสีแดง

       - %Change (%Chg) คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือบวก ตัวเลขจะเป็นสีเขียว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงลดลง หรือติดลบ ตัวเลขจะเป็นสีแดง

       ในแต่ละวัน %Change สามารถเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 30% (Ceiling) และลดลงได้ไม่เกิน 30% (Floor) หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับตลาดหุ้น หรือหุ้นรายตัว จะถูกพักการซื้อขายชั่วคราว



       - ราคาเสนอซื้อ (Bid) คือ ราคาที่ดีที่สุดของผู้ซื้อ โดยปกติราคาเสนอซื้อจะเท่ากับ หรือต่ำกว่าราคาล่าสุด ถ้าต้องการซื้อแล้วตั้งราคา Bid ใกล้เคียงราคาล่าสุดมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสซื้อหุ้นติดมากขึ้น อาทิเช่น

       ราคาล่าสุด 8 บาท คนที่ยอมซื้อแพงกว่า ตั้งราคา Bid ไว้ที่ 7.95 บาท ย่อมได้คิวก่อนคนที่ตั้งราคา Bid ไว้ที่ 7.90 บาท ในกรณีทั้งสองคนตั้งราคา Bid ไว้เท่ากัน ให้ดูช่วงเวลาที่ส่งคำสั่ง ใครส่งคำสั่งก่อนได้คิวก่อน

       - ราคาเสนอขาย (Offer) คือ ราคาที่ดีที่สุดของผู้ซื้อ โดยปกติราคาเสนอซื้อจะเท่ากับ หรือสูงกว่าราคาล่าสุด ถ้าต้องการขายแล้วตั้งราคา Offer ใกล้เคียงราคาล่าสุดมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสซื้อหุ้นติดมากขึ้น อาทิเช่น 

       ราคาล่าสุด 8 บาท คนที่ยอมขายถูกกว่า ตั้งราคา Offer ไว้ที่ 8.05 บาท ย่อมได้คิวก่อนคนที่ตั้งราคา Bid ไว้ที่ 8.10 บาท ในกรณีทั้งสองคนตั้งราคา Offer ไว้เท่ากัน ให้ดูช่วงเวลาที่ส่งคำสั่ง ใครส่งคำสั่งก่อนได้คิวก่อน

       - Volume (Vol) คือ ปริมาณการซื้อขายภายในวัน หุ้นที่มีสภาพคล่องดีควรมี Volume สม่ำเสมอ

       - Value (Val) คือ มูลค่าการซื้อชายภายในวัน วิธีคำนวณหา Value คือ นำ ราคาซื้อขายของหุ้น คูณกับ ปริมาณการซื้อขายของหุ้น



********************************************************************************

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

เทคนิค - ราคา กับ Volume



       การติดตามดูความเคลื่อนไหวของปริมาณการซื้อขายหุ้น (Volume) เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยทำให้เราทราบว่า หุ้นตัวนั้นมีกระแสเงินสดหลั่งไหลเข้ามาหรือไม่? เพราะการที่อยู่ๆ มีเงินจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าออกในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกสิ่งผิดปกติอะไรบางอย่าง กลุ่มคนในตลาดหุ้นมีความต้องการซื้อ หรือขายหุ้นตัวเดียวกันพร้อมๆ กันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลสำคัญ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของราคา และ Volume  นั่นเอง



       ในช่วงเวลาปกติ ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ เหมือนไม่มีสิ่งเร้าอะไรมากระตุ้นราคา และ Volume เมื่อมีข่าวออกมา ทุกคนในตลาดจะพุ่งความสนใจมาที่หุ้นตัวนั้นทันที




       หากเป็นข่าวดีออกมา คนที่ยังไม่มีหุ้นตัวนั้นเกิดความรู้สึกอยากได้ จะแย่งกันซื้อหุ้นตัวนั้นในทันที และมี Volume เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ รวมทั้งราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ




       หากเป็นข่าวไม่ดีออกมา คนที่มีหุ้นตัวนั้นเกิดความกลัวราคาหุ้นจะตก จะแย่งกันขายหุ้นตัวนั้นในทันที และมี Volume เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ รวมทั้งราคาหุ้นที่ลดลงเรื่อยๆ



เห็นราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ยังไม่มีหุ้นตัวนั้นอยากได้ ควรเข้าไปซื้อไหม?


       ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรพิจารณาราคา และ Volume ของหุ้นให้ชัดเจน ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมสูงมากๆ ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหลังจากซื้อหุ้นไปแล้ว การที่มี Volume เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สามารถเข้าไปซื้อหุ้นได้



********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิค - การลากเส้น Trend Line


       หลายคนเข้าใจว่า หุ้นนั้นขึ้นลงไม่แน่นอน เมื่อวานราคาหุ้นตก แต่วันนี้ราคาหุ้นกลับขึ้น ทำให้ยากแก่การตัดสินใจ เครื่องมือตัวนึงที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เส้น Trend Line ซึ่งช่วยให้เราสามารถตีกรอบของราคาหุ้น เพื่อทราบทิศทางความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้




       จุดประสงค์หลักของการลากเส้น Trend Line ประกอบที่กราฟ คือ ช่วยให้เห็นภาพรวมของตลาดชัดเจนมากขึ้น


       หลักการลากเส้น Trend Line คือ ลากเส้นตรงจากด้านซ้ายไปด้านขวา โดยกำหนดจุดเริ่มต้นเป็นจุดสูงสุด หรือจุดต่ำสุด ไปจุดถัดไป หากเส้นตรงที่ลากผ่านจุดหลายจุด ยิ่งทำให้เส้น Trend Line เส้นนั้น มีความสำคัญมากขึ้นอีกด้วย



********************************************************************************

ทำไมต้องลากเส้น Trend Line ที่จุดสูงสุด หรือจุดต่ำสุด ?


       นิยามของ Trend Line คือ ในช่วงเวลานึง ราคาหุ้นเคลื่อนไหวไปมาภายในกรอบอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นในแนวราบ หรือมีความชันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้จุดสูงสุด หรือจุดต่ำสุด มาเป็นจุดผ่านในการลากเส้น Trend Line นั้น เพราะจุดสำคัญเหล่านั้นล้วนแต่เคยเป็นจุดกลับตัวมาก่อน เราจึงคาดเหตุการณ์ว่า บริเวณแนวเส้น Trend Line อาจเป็นจุดกลับตัวใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


       การลากเส้น Trend Line ด้านบน และด้านล่าง คือ การสร้างแนวรับ - แนวต้าน ให้กับราคาหุ้น เปรียบสมือนกับ ราคาหุ้น คือ ลูกปิงปอง , แนวรับ คือ พื้นห้อง และแนวต้าน คือ เพดานห้อง


       ภายในห้องสี่เหลี่ยม เมื่อเราโยนลูกปิงปองขึ้นข้างบนสุดแรง ลูกปิงปองจะพุ่งขึ้นชนเพดานห้อง ก่อนจะตกลงสู่พื้นห้อง เมื่อตกลงสู่พื้นห้องแล้ว ลูกปิงปองก็จะเด้งจากพื้นพุ่งขึ้นชนเพดานอีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าลูกปิงปองนั้นจะค่อยๆหมดแรงลงที่พื้น


       ภายในห้องสี่เหลี่ยม เมื่อเราปาลูกปิงปองลงพื้นสุดแรง ลูกปิงปองจะเด้งลงพื้นห้อง ก่อนจะพุ่งขึ้นชนเพดานห้อง เมื่อชนเพดานห้องแล้ว ลูกปิงปองก็จะตกลงสู่พื้นห้องอีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าลูกปิงปองนั้นจะค่อยๆหมดแรงลงที่พื้น




       ข้อดีของการลากเส้น Trend Line คือ ทำให้เรามองเห็นว่าแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด และเมื่อราคาทะลุกรอบเส้น Trend Line ยังช่วยทำให้ทราบว่า ราคาหุ้นมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น หรือกำลังจะเปลี่ยนทิศทาง




********************************************************************************

เครื่องมือสำหรับการลากเส้น Trend Line มีดังนี้


       เส้น Trend Line ใช้สำหรับการลากเส้น Trend Line


       วิธีใช้งาน คลิกซ้ายที่ไอคอนรูปเส้น Trend Line หรือแท่งดินสอ เมื่อคลิกเสร็จแล้วไอคอนที่เม้าส์จะเปลี่ยนเป็นรูปแท่งดินสอ ให้นำไอคอนเม้าส์รูปแท่งดินสอไปวางในตำแหน่งจุดที่ต้องการ แล้ว Drag เม้าส์(การคลิกซ้ายค้างแล้วลากเม้าส์) ไปยังจุดถัดไปที่ต้องการ ก็จะได้เส้น Trend Line ออกมา




       หากเป็นแนวโน้มขาขึ้น ให้ลากเส้น Trend Line จากจุดสูงสุดที่ต้องการไปหาจุดสูงสุดถัดไปที่สูงกว่า และจุดต่ำสุดที่ต้องการไปหาจุดต่ำสุดถัดไปที่สูงกว่า


       หากเป็นแนวโน้มขาลง ให้ลากเส้น Trend Line จากจุดสูงสุดที่ต้องการไปหาจุดสูงสุดถัดไปที่ต่ำกว่า และจุดต่ำสุดที่ต้องการไปหาจุดต่ำสุดถัดไปที่ต่ำกว่า


       หากเป็นแนวโน้ม Side Way ให้ลากเส้น Trend Line จากจุดสูงสุดที่ต้องการไปหาจุดสูงสุดถัดไปที่เท่ากัน และจุดต่ำสุดที่ต้องการไปหาจุดต่ำสุดถัดไปที่เท่ากัน




********************************************************************************

       Parallel Line เป็นการสร้างเส้น Trend Line เส้นใหม่ในลักษณะขนานกันกับเส้น Trend Line เส้นแรก


       วิธีใช้งาน เมื่อลากเส้น Trend Line เสร็จ ให้กดปุ่ม Parallel Line จะได้เส้น Trend Line เส้นใหม่ ให้จัดวางในตำแหน่งที่ต้องการ




       คำแนะนำในการลากเส้น Trend Line สามารถลากเส้น Trend Line กี่เส้นก็ได้ แต่ก็ไม่ควรลากเส้น Trend Line มากจนเกินไป ให้ลากเส้น Trend Line ที่สำคัญๆ โดยเฉพาะจุดสูงสุด(เส้น Trend Line ด้านบน) และจุดต่ำสุด(เส้น Trend Line ด้านล่าง)



********************************************************************************