วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทำความรู้จักกับโบรกเกอร์


       บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ (Broker) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับคำสั่งซื้้อขายหุ้น (Order) จากนักลงทุน เพื่อส่งไปตลาดหลักทรัพย์ เมื่อคำสั่งถูกจับคู่ในเงื่อนไขที่ตรงกัน (Matched) ผลลัพธ์จะถูกแจ้งมาที่โบรกเกอร์ แล้วมาร์เก็ตติ้งแจ้งแก่นักลงทุนตามลำดับ

       มาร์เก็ตติ้ง (Marketing) เป็นพนักงานในโบรกเกอร์ ดูแลการทำธุรกรรมต่างๆ ของนักลงทุน ตั้งแต่สมัครเปิดพอร์ตหุ้น โอนเงินเข้าออกพอร์ตหุ้น ซื้อขายหุ้น รายงานสรุปรายการซื้อขายหุ้นภายในเดือนนั้นๆ ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และหุ้นรายตัว เป็นต้น

       การติดต่อสนทนากับมาร์เก็ตติ้งผ่านทางโทรศัพท์จะถูกบันทึกเทปไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักลงทุน ในกรณีที่มีการตรวจสอบคำสั่งซื้อขาย และป้องกันการกระทำผิดพรบ.ของตลาดหลักทรัพย์

       การสมัครเปิดพอร์ตหุ้น สามารถติดต่อผ่านมาร์เก็ตติ้ง หรือโบรกเกอร์ คล้ายๆ กับการเปิดบัญชีธนาคารนั่นแหละ เมื่อเปิดพอร์ตหุ้นเรียบร้อยแล้วก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ทันที โดยปกติใช้เวลาทำดำเนินการเปิดพอร์ตประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ แต่ละโบรกเกอร์มีข้อจำกัดในการซื้อขายหุ้น อนุพันธ์ และโกลด์ฟิวเจอรืที่แตกต่างกัน

       คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของข้อจำกัดในการซื้้อขายแต่ละโบรกเกอร์ได้ที่นี่



********************************************************************************

     หลักเกณฑ์ในการเลือกโบรกเกอร์

       การดูแลของมาร์เก็ตติ้ง ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจำเป็นต้องติดต่อทำธุรกรรมกับมาร์เก็ตติ้งบ่อยครั้ง ดังนั้นควรเลือกมาร์เก็ตติ้งที่สามารถดูแลเราได้ทั่วถึง เป็นกันเอง และสามารถให้คำปรึกษาได้อย่างดี

       มีข้อมูล และบทวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ ในกรณีที่มาร์เก็ตติ้งติดต่อกับลูกค้าท่านอื่น หรือฝ่ายเราไม่สะดวกติดต่อโดยตรงกับมาร์เก็ตติ้ง ก็สามารถค้นหาข้อมูล และบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวที่เราถืออยู่ หรือหุ้นตัวที่เรากำลังสนใจ ข้อมูล และบทวิเคราะห์ ถือเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจได้ดีทีเดียว

       ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้น แต่ละโบรกเกอร์มีข้อกำหนดในการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นที่แตกต่างกัน รูปแบบการเรียกค่าคอมมิชชั่นแบ่งหลักได้ 2 แบบ ดังนี้



       แบบแรก เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ 50 บาทต่อวัน (บวก VAT 7% ของค่าคอมมิชชั่น กลายเป็น 53.50 บาทต่อวัน) ไม่ว่าเราซื้อหรือขายหุ้นภายในวันนั้น จะถูกเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำในการซื้อขาย 53.50 บาทต่อวัน (ยกเว้นในกรณีที่เราซื้อขายหุ้นเป็นจำนวนเงินรวมเกิน 30,000 บาทขึ้นไป การคำนวณค่าคอมมิชชั่นใช้วิธีคิดจาก 0.15% ของรายการคำสั่งซื้อขาย บวก VAT 7% ของค่าคอมมิชชั่น)

       ตัวอย่างเช่น เราซื้้อหุ้นด้วยเงินจำนวน 1,000 บาท หรือด้วยเงินจำนวน 10,000 บาท ต่างก็ถูกเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่น 53.50 บาทเท่ากัน เป็นต้น ดังนั้นการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นรูปแบบนี้ คนซื้อขายหุ้นด้วยเงินจำนวนน้อยๆ เสียเปรียบนั่นเอง

       แบบหลัง ไม่มีค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ หมายถึง ไม่ว่าเราจะซื้อขายหุ้นภายในวันด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม จะคิดค่าคอมมิชชั่นเป็นแบบ 0.15% ของรายการคำสั่งซื้อขาย แล้วบวก VAT 7% ของค่าคอมมิชชั่น

       ตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้นด้วยเงินจำนวน 1,000 บาท จะถูกเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นตามจริงเท่ากับ 1.61 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ใช้ซื้อหุ้น 1,001.61 บาท ถ้าเราซื้อหุ้นด้วยเงินจำนวน 10,000 บาท จะถูกเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นตามจริงเท่ากับ 16.1 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ใช้ซื้อหุ้น 10,016.1 บาท เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบนี้ คนซื้อหุ้นด้วยเงินจำนวนมากหรือน้อยก็มีคำว่าไม่เสียเปรียบ

       มีเอกสารรายงานการซื้อขายหุ้น เมื่อเรามีคำสั่งซื้อขายหุ้นในแต่ละครั้งสมบูรณ์แล้ว ทางมาร์เก็ตติ้งจะส่งเอกสารรายงานการซื้อขายหุ้น ซึ่งจะช่วยในเช็คความถูกต้องในการซื้อขายหุ้น เพื่อที่เราจะได้สรุปผลกำไรขาดทุนในแต่ละรอบได้

       ทำเลที่ตั้งของสาขาโบรกเกอร์ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการไปเฝ้าหน้าจอที่โบรกเกอร์ แบบที่เราเคยได้ยินกันว่า "เล่นหุ้นต้องไปที่โบรกเกอร์"



********************************************************************************

       การสมัครเปิดพอร์ตต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?



1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก และหน้าโชว์ Statement ย้อนหลัง
       

       เปิดพอร์ตหุ้นมีค่าใช้จ่ายไหม?

       การเปิดพอร์ตหุ้นไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จะซื้อขายหุ้นเมื่อไหร่ก็ได้ภายในเวลา 1 ปี หรือมีหุ้นอยู่ในพอร์ตหุ้น สถานะพอร์ตจะคงอยู่ตลอด หากไม่มีการซื้อขายหุ้นเลยภายในเวลา 1 ปี หรือไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตเลย สถานะของพอร์ตถูกปิดลง โดยทางโบรกเกอร์จะแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า



********************************************************************************

       เปิดพอร์ตหุ้นได้ช่องทางไหนบ้าง?



       Money Expo และ SET in the City เป็นมหกรรมทางการเงิน และการลงทุน มีบูธต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น ธนาคาร , โบรกเกอร์ และบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น

       ผุ้ที่สนใจเปิดพอร์ตหุ้นสามารถไปสมัครภายในงานได้ มีโบรกเกอร์ให้เลือกมากมาย ในงานเรามีโอกาสได้พูดคุย สอบถามรายละเอียดของการเปิดพอร์ตหุ้น




      โดยส่วนใหญ่ มหกรรม Money Expo และ SET in the City ใช้สถานที่จัดงานเป็น ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรืออาคารชาเลนเจอร์ Impact เมืองทองธานี

       เช็คตารางการจัดงาน Money Expo และ SET in the Cityได้ที่นี่


       สมัครออนไลน์ เหมาะสำหรับท่านที่ไม่สะดวกเดินทางไปในงานมหกรรม หรือไปสาขาโบรกเกอร์โดยตรง เพียงแค่ท่านอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ก็สามารถสมัครได้แล้ว ส่วนเอกสารหลักฐานในการสมัครเปิดพอร์ตหุ้น สามารถส่งไปทางอีเมล์ของโบรกเกอร์ภายหลังได้

       คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของการสมัครออนไลน์เปิดพอร์ตหุ้นกับโบรกเกอร์ต่างๆได้ที่นี่ 


       ติดต่อสมัครเปิดพอร์ตหุ้นที่สาขาโบรกเกอร์โดยตรง เหมาะสำหรับท่านที่มีสาขาโบรกเกอร์อยู่ใกล้ๆบ้าน หรือที่ทำงาน หรือบางคนมีเพื่อนเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่แล้ว การสมัครเปิดพอร์ตหุ้นก็จะง่ายยิ่งขึ้น





********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น